ครูโบว์ยินดีต้อนรับค่ะ เรามาร่วมเรียนรู้ภาษาไทยด้วยกันนะคะ
ร่วมเรียนรู้ภาษาไทย กับครูโบว์กันค่ะ



ปฏิทิน

เวลาทำการ

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

Hit Counter
Hit Counter Counter
/

วันพฤหัสบดีที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2553


ลักษณะของวรรณคดี
วรรณคดี คือ คำที่ไทยบัญญัติขึ้นใช้แทนคำว่า Literature ในภาษาอังกฤษปรากฏเป็นหลักฐานทางราชการเป็นครั้งแรกในพระราชกฤษฎีกาวรรณคดีสโมสร เมื่อวันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๔๕๗ กำหนดไว้ว่า หนังสือที่เป็นวรรณคดีได้มีอยู่ ๕ ชนิดคือ
๑. กวีนิพนธ์ คือ เรื่องที่กวีเป็นผู้แต่งขึ้นเป็นคำประพันธ์หรือบทร้อยกรอง ได้แก่ โคลง
ฉันท์ กาพย์ กลอน เป็นต้น
๒. บทละครไทย คือ เรื่องที่แต่งเป็นบทละครรำ ประพันธ์เป็นคำกลอน มีกำหนดหน้า
พาทย์ ซึ่งได้แก่ เพลงที่บรรเลงประกอบการเคลื่อนไหว เช่น ตอนยกทัพ ใช้เพลงกราวนอก เป็นต้น
๓. นิทาน คือ เรื่องที่กวีแต่งขึ้นไม่ใช่เรื่องจริง ปัจจุบันขยายความหมายของนิทานออกไปเป็น นวนิยาย และเรื่องสั้นด้วย
๔. ละครปัจจุบัน คือละครไทยที่เอาแบบอย่างมาจากยุโรป ตัวละครแต่งตามชีวิตจริง
๕. อธิบาย (essay) คือ ความเรียงอธิบาย บางทีก็เป็นรูปของบทความต่างๆ ที่เขียนลงในหนังสือพิมพ์
คุณสมบัติของวรรณคดี
วรรณคดีสโมสรกำหนดคุณสมบัติของวรรณคดีไว้ว่า
๑. เป็นหนังสือดี กล่าวคือ เป็นเรื่องที่สาธารณะชนอ่านได้โดยไม่เสียประโยชน์ หรือชักจูงผู้อ่านไปในทางไม่เป็นแก่นสาร หรือจะชวนให้คิดวุ่นวายทางการเมือง
๒. เป็นหนังสือแต่งดี ใช้วิธีเรียบเรียงอย่างใดๆก็ตาม แต่ต้องเป็นภาษาไทยที่ดีถูกต้องตามเยี่ยงอย่างโบราณกาลหรือปัจจุบันกาลก็ได้
สาเหตุการเกิดวรรณคดี
๑. เกิดจากความภาคภูมิใจในวีรชนและชาติกำเนิดของตน
๒. เกิดจากความเชื่อ และความเลื่อมใสในศาสนา
๓. เกิดจากขนบธรรมเนียมนิยม วัฒนธรรม และประเพณี
๔. เกิดจากความต้องการปลุกใจให้เกิดความรักชาติ
๕. เกิดจากอารมณ์ของกวีอันเนื่องมาจากความรู้สึกสงสารและสมเพชในเหตุการณ์
๖. เกิดจากอารมณ์ทางเพศเป็นพื้นฐาน
๗. เกิดจากความต้องการทางด้านมหรสพ
๘. เกิดจากการถ่ายทอดวัฒนธรรมระหว่างประเทศ



ประเภทของวรรณคดี
วรรณคดีมีการจำแนกได้หลายลักษณะ ดังนี้
๑. จำแนกตามลักษณะของคำประพันธ์ ได้ ๒ ประเภท คือ
๑.๑ ร้อยแก้ว ได้แก่ วรรณคดีที่แต่งเป็นร้อยแก้ว
๑.๒ ร้อยกรอง ได้แก่ วรรณคดีที่แต่งเป็นร้อยกรอง
๒. จำแนกตามลักษณะการบันทึก ได้ ๒ ประเภท คือ
๒.๑ วรรณคดีที่ไม่ได้จารึกเป็นลายลักษณ์อักษร เป็นวรรณคดีที่เล่าต่อๆกันมา อย่างที่เรียกว่า”วรรณคดีมุขปาฐะ”
๒.๒ วรรณคดีที่จารึกเป็นลายลักษณ์อักษร ได้แก่ วรรณคดีที่มีการจารึกเป็นหลักฐานแน่นอน
๓. จำแนกตามวัตถุประสงค์ ได้ ๒ ประเภท คือ
๓.๑ วรรณคดีแท้ หรือวรรณคดีบริสุทธิ์ เป็นวรรณคดีที่มุ่งให้ผู้อ่านเกิดความเพลิดเพลินเป็นใหญ่ เป็นวรรณคดีเกิดจากอารมณ์สะเทือนใจของผู้แต่ง
๓.๒ วรรณคดีประยุกต์ เป็นวรรณคดีที่ผู้แต่ง แต่งขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมายนอกเหนือไปจากความเพลิดเพลิน แต่งขึ้นเพื่อมุ่ง
ประโยชน์อย่างอื่น เช่น บันทึกเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ฯลฯ
๔. จำแนกตามลักษณะเนื้อเรื่อง ได้ ๕ ประเภทคือ
๔.๑ วรรณคดีการละคร หรือนาฏการ
๔.๒ วรรณคดีเกี่ยวกับศาสนาและคำสอน
๔.๓ วรรณคดีเกี่ยวกับขนบธรรมเนียมประเพณี หรือพิธีการ
๔.๔ วรรณคดีเฉลิมพระเกียรติ หรือวรรณคดีทางประวัติศาสตร์
๔.๕ วรรณคดีเกี่ยวกับอารมณ์ ได้แก่ วรรณคดีนิราศเรื่องต่างๆ



ประโยชน์ของวรรณคดี
๑. ได้รับความบันเทิง ได้แก่ ความพอใจ ความเพลิดเพลิน ความสุข อันเกิดจากเนื้อเรื่องและอรรถรสทางภาษา
๒. ได้รับความรู้ด้านต่างๆ ได้แก่ ด้านภาษา ด้านประวัติศาสตร์ เป็นต้น
๓. ได้คติธรรม ได้แก่ แง่คิดและสิ่งเตือนใจที่เป็นประโยชน์
๔. ได้ปรัชญาชีวิต ได้แก่ การเกิดความเข้าใจในชีวิต และโลกตามความเป็นจริง ทำให้เราสามารถดำรงชีวิตได้อย่างเป็นสุข
ประโยชน์ของการศึกษาประวัติวรรณคดี
๑. ทำให้ทราบถึงความเป็นมา วิวัฒนาการของวรรณคดีไทย กำเนิดของวรรณคดีไทย
๒. ทำให้ทราบถึงความสามารถของกวี ที่สามารถสะท้อนภาพชีวิต ความเป็นอยู่ ศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี ความรู้ ความคิด ผ่านวรรณคดี ทำให้คนรุ่นหลังได้รับความรู้ ความเข้าใจถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของบรรพบุรุษในสมัยของวรรณคดีนั้นๆ
๓. ทำให้ทราบถึงภูมิปัญญาของไทยในแง่มุมต่างๆ เช่น ศิลปะการใช้ภาษา
การดำเนินชีวิต เป็นต้น
๔. ทำให้ตระหนักถึงสิ่งที่ดีงามของชาติ และก่อให้เกิดความภาคภูมิใจในความเป็นไทย

2 ความคิดเห็น:

  1. ครูโบว์ ค่ะ รูปแบบการเขียน วรรณคดีมีกี่ลักษณะค่ะ^^ บอกหน่อยนะค่ะ

    ตอบลบ