ครูโบว์ยินดีต้อนรับค่ะ เรามาร่วมเรียนรู้ภาษาไทยด้วยกันนะคะ
ร่วมเรียนรู้ภาษาไทย กับครูโบว์กันค่ะ



ปฏิทิน

เวลาทำการ

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

Hit Counter
Hit Counter Counter
/

วันจันทร์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

การพินิจวรรณกรรม


การพินิจวรรณกรรม
หลักการพินิจวรรณคดีและวรรณกรรม
การพินิจหรือการพิจารณาคุณค่าของวรรณคดีหรือวรรณกรรม ไม่ว่าจะเป็นร้อยแก้วหรือร้อยกรองเราพิจารณาด้วยหลักการกว้าง ๆ คล้ายกัน คือ เราอาจจะตั้งคำถามง่าย ๆ ว่างานประพันธ์ชิ้นนั้นหรือเรื่องนั้นให้อะไรแก่คนอ่านบ้าง

ความหมาย
การพินิจ คือ การพิจารณาตรวจตรา พร้อมทั้งวิเคราะห์แยกแยะและประเมินค่าได้ทั้งนี้นอกจากจะได้ประโยชน์ต่อตนเองแล้ว ยังมีจุดประสงค์เพื่อนำไปแสดงความคิดเห็นและข้อเท็จจริงให้ผู้อื่นได้ทราบด้วย เช่น การพินิจวรรณคดีและวรรณกรรมเพื่อแนะนำให้บุคคลทั่วไปที่เป็นผู้อ่านได้รู้จักและได้ทราบรายละเอียดที่เป็นประโยชน์ในด้านต่าง ๆ เช่น ใครเป็นผู้แต่ง เป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร มีประโยชน์ต่อใครบ้าง ทางด้านใด ผู้พินิจมีความเห็นว่าอย่างไร คุณค่าในแต่ละด้านสามารถนำไปประยุกต์ให้เกิดประโยชน์อย่างไรในชีวิตประจำวัน


แนวทางในการพินิจวรรณคดีและวรรณกรรม
การพินิจวรรณคดีและวรรณกรรมมีแนวให้ปฏิบัติอย่างกว้าง ๆ เพื่อให้ครอบคลุมงานเขียนทุกชนิด ซึ่งผู้พินิจจะต้องดูว่าจะพินิจหนังสือชนิดใด มีลักษณะเฉพาะอย่างไร ซึ่งจะมีแนวในการพินิจที่จะต้องประยุกต์หรือปรับใช้ให้เหมาะสมกับงานเขียนนั้น ๆ
หลักเกณฑ์กว้าง ๆ ในการพินิจวรรณคดีและวรรณกรรม มีดังนี้
๑.ความเป็นมาหรือประวัติของหนังสือและผู้แต่ง เพื่อช่วยให้วิเคราะห์ในส่วนอื่น ๆ ได้ดีขึ้น
๒.ลักษณะคำประพันธ์
๓.เรื่องย่อ
๔.เนื้อเรื่อง ให้วิเคราะห์เรื่องตามหัวข้อต่อไปนี้ตามลำดับ โดยบางหัวข้ออาจจะมีหรือไม่มีก็ได้ตามความจำเป็น เช่น โครงเรื่อง ตัวละคร ฉาก วิธีการแต่ง ลักษณะการเดินเรื่อง การใช้ถ้อยคำสำนวนในเรื่อง ท่วงทำนองการแต่ง วิธีคิดที่สร้างสรรค์ ทัศนะหรือมุมมองของผู้เขียน เป็นต้น
๕.แนวคิด จุดมุ่งหมาย เจตนาของผู้เขียนที่ฝากไว้ในเรื่อง หรือบางทีก็แฝงเอาไว้ในเรื่อง ซึ่งจะต้องวิเคราะห์ออกมา
๖.คุณค่าของวรรณคดีและวรรณกรรม ซึ่งโดยปกติแล้วจะแบ่งออกเป็น ๔ ด้านใหญ่ ๆ และกว้าง ๆ เพื่อความครอบคลุมในทุกประเด็น ซึ่งผู้พินิจจะต้องไปแยกแยะหัวข้อย่อยให้สอดคล้องกับลักษณะหนังสือที่จะพินิจนั้น ๆ ตามความเหมาะสมต่อไป

การพินิจคุณค่าของวรรณคดีและวรรณกรรม มี ๔ ประเด็นดังนี้
๑.คุณค่าด้านวรรณศิลป์ คือ ความไพเราะของบทประพันธ์ ซึ่งอาจจะเกิดจากรสของคำที่ผู้แต่งเลือกใช้ และรสความที่ให้ความหมายกระทบใจผู้อ่าน
๒.คุณค่าด้านเนื้อหา คือ การให้ความรู้ด้านต่าง ๆ ให้คุณค่าทางปัญญาและความคิดแก่ผู้อ่าน
๓.คุณค่าด้านสังคม วรรณคดีและวรรณกรรมสะท้อนให้เห็นภาพของสังคมในอดีตและวรรณกรรมที่ดีสามารถจรรโลงสังคมได้อีกด้วย
๔.การนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อให้ผู้อ่านได้ประจักษ์ในคุณค่าของชีวิต ได้ความคิดและประสบการณ์จากเรื่องที่อ่าน และนำไปใช้ในการดำเนินชีวิต นำไปเป็นแนวปฏิบัติหรือแก้ปัญหารอบ ๆ ตัว






บทกวีร่วมสมัยเรื่อง จันทร์เข้าขา

จันทร์เอ๋ยจันทร์เข้าขา ฉันเกิดมาในเมืองหลวง
จันทร์เด่นเห็นเต็มดวง โชติช่วงอยู่รูหลังคา
จันทร์จ๋าจันทร์เจ้าเอ๋ย ฉันไม่เคยได้ศึกษา
วันวันวิ่งไปมา ขายมาลัยให้รถยนต์
จันทร์เอ๋ยพระจันทร์เจ้า ฉันต้องเฝ้าอยู่บนถนน
แดดร้อนไม่ร้อนรน เท่าร้อนใจไม่มีกิน
จันทร์เอ๋ยจันทร์เจ้าขา ขอหลังคาคลุมแผ่นดิน
ขอมุ้งกันยุงริ้น ขอผ้าห่มให้คลายหนาว
จันทร์จ๋าจันทร์เจ้าเอ๋ย ฉันไม่เคยรู้เรื่องราว
ก. ไก่ ข. ไข่ดาว ขอครูด้วยช่วยสอนฉัน
จันทร์เอ๋ยพระจันทร์เจ้า ขอคนเรารักผูกพัน
ขอสิทธิเท่าเทียมกัน ขอสักวันฉันมีกิน ฯ


(ที่มา : เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์)

ตัวอย่างการพินิจวรรณกรรม ประเภทบทกวี เรื่อง จันทร์เจ้าขา
เรื่อง จันทร์เจ้าขา คัดมาจากบทกวีชุด “เพลงขลุ่ยเหนือทุ่งข้าว” บทนี้แต่งด้วยกาพย์ยานี ๑๑จำนวน ๖ บท ข้อความบางวรรคที่ปรากฏอยู่ในบทกวีร่วมสมัยนี้คล้ายกับบทร้องเล่นของเด็กที่หลายคนจำได้ แต่ผู้เขียนได้นำมาเสนอใหม่ให้มีเนื้อหาสาระสะท้อนสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของสังคมปัจจุบันได้อย่างน่าสนใจ
ประวัติผู้แต่ง
เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ เป็นผู้ซึ่งมีผลงานบทกวีที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในปัจจุบัน บทกวีของท่านชุด “เพียงความเคลื่อนไหว” ได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ในปี พ.ศ.๒๕๒๓ คณะกรรมการตัดสินรางวัล ได้กล่าวถึงผลงาน เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ไว้ว่า “ความสามารถในการใช้รูปแบบกวีนิพนธ์ของเขา นั้นเป็นที่ยอมรับอยู่แล้ว เขาเป็นศิลปินผู้เชี่ยวชาญทั้งในด้านฉันทลักษณ์ตามแบบแผน และทั้งด้านเพลงพื้นบ้านถึงขนาดที่เรียกว่าในเพลงกล่อมเด็ก เนาวรัตน์ก็อาจสอดสาระทางการเมืองและสังคมที่ร้อนแรงได้”
รูปแบบการแต่งและลักษณะคำประพันธ์
บทกวีร่วมสมัยเรื่อง “จันทร์เจ้าขา” กวีเลือกใช้กาพย์ยานี ๑๑ โดยมีบางวรรคเหมือนกับบทร้องเล่นของเด็กที่รู้จักกันดีอยู่แล้ว คือ “จันทร์เอ๋ยจันทร์เจ้าขา” ในภาพรวมแล้วกวีเลือกใช้ถ้อยคำได้ไพเราะน่าสนใจ ลีลาของกาพย์โดดเด่นไปตามลักษณะของกวีร่วมสมัย
คุณค่าของบทกวี จันทร์เจ้าขา
๑.คุณค่าด้านวรรณศิลป์
ความเด่นของบทกวีบทนี้อยู่ที่การเลือดคำง่าย ๆ มาสะท้อนปัญหาที่พบเห็นอยู่ทั่วไป บางวรรคกวีใช้คำน้อยแต่กินความหมายลึกซึ้ง เช่น กวีบรรยายภาพบ้านของเด็กในเรื่องว่า “จันทร์เด่นเห็นเต็มดวง โชติช่วงอยู่รูหลังคา” วรรคหลังนี้แสดงภาพบ้านสะท้อนฐานะความเป็นอยู่ได้ชัดเจนและสะเทือนใจ กวีเลือกใช้คำที่ซ้ำกันเกือบทั้งวรรค เช่น “จันทร์เอ๋ยจันทร์เจ้าขา” “จันทร์จ๋าจันทร์เจ้าเอ๋ย” หรือ “จันทร์เอ๋ยพระจันทร์เจ้า” การจงใจซ้ำคำทำให้เกิดความเน้น และความสืบเนื่องของเนื้อหาที่นำเสนอ การซ้ำคำอีกลักษณะหนึ่งทำให้ได้เนื้อหาที่ลึกซึ้งกินใจ เช่น “เดือดร้อนไม่ร้อนรน เท่าร้อนใจไม่มีกิน” เป็นต้น
๒.คุณค่าด้านเนื้อหา
เนื้อหาสาระที่กวีนำเสนอ ถือว่าเป็นจุดเด่นของกวีร่วมสมัยที่เลือกเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับปัญหาที่ยังคงมีอยู่ในปัจจุบัน เป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องที่แก้ไขได้ยาก บทกวีร่วมสมัยเรื่อง “จันทร์เจ้าขา” นอกจากจะเสนอเนื้อหาความต้องการปัจจัยสี่แล้ว เนื้อหาของบทกวียังแสดงออกถึงการเรียกร้องเชิงอุดมคติ คือ “ขอคนเรารักผูกพัน” และ “ขอสิทธิเท่าเทียมกัน”
๓.คุณค่าด้านสังคมและการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน
บทกวีร่วมสมัยย่อมสะท้อนสภาพสังคมของกวีร่วมสมัยตามมุมมองของกวี โดยในเรื่อง “จันทร์เจ้าขา” ได้เลือกที่จะใช้ฉากปัจจุบันของกรุงเทพมหานครที่มีปัญหาสังคมขนาดเขื่องอยู่ในความเจริญรุ่งเรืองหรูหรา แต่อีกมุมหนึ่งของความรุ่งเรืองหรูหรานั้น มีเด็กจำนวนมากวิ่งขายพวงมาลัยตามสี่แยกซึ่งทั้งยากจนและไร้การศึกษา กวีมีเจตนาที่จะชี้ให้เห็น “มุมตัด” ที่แตกต่างหรือเป็น “ช่องว่าง” ของสภาพความยากจน การดิ้นรนเพื่อปากท้อง สภาพของเด็กไร้การศึกษาแม้ว่าตะอยู่ในเมืองหลวง มีคนร่ำรวย มีมหาเศรษฐีมากมาย อีกทั้งเป็นศูนย์กลางของความเจริญและอำนาจรัฐ
แนวความคิดและมุมมองในเรื่อง “จันทร์เจ้าขา” เป็นเสมือนสิ่งกระตุ้นเตือนให้มนุษย์ผู้รับผิดชอบนำไปพัฒนาความคิดเพื่อหาวิธีการแก้ปัญหา บทกวีที่ว่า “จันทร์เด่นเห็นเต็มดวง โชติช่วงอยู่รูหลังคา” มีความหมายถึง หลังคาที่อยู่อาศัย ผุ ๆ รั่วๆ หรือไม่มีแม้ที่อยู่อาศัย แต่อาศัยนอนซุกอยู่ตามซอกรูหลังคาที่ใดที่หนึ่งที่มีอยู่มากมาย ซึ่งกวีหวังว่าผู้รับผิดชอบอาจจะนำไปแก้ปัญหา ถึงแม้ว่าจะดูว่าค่อนข้างจะเป็นอุดมคติเกินไป (คือแก้ไม่ได้) ในสังคมแบบทุนนิยม แต่อย่างน้อยผู้อ่านก็ยังได้ตระหนักถึงปัญหาความไม่เท่าเทียมกันในสังคม ด้วยหวังว่าคงจะมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อผู้ด้อยโอกาส ได้สนับสนุน ได้ผลักดัน ให้เขาได้มีความจำเป็นในขั้นพื้นฐานคือ มีกิน มีการศึกษา และถ้าเป็นไปได้ก็คือมีสิทธิเท่าเทียมกับคนอื่น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น