ครูโบว์ยินดีต้อนรับค่ะ เรามาร่วมเรียนรู้ภาษาไทยด้วยกันนะคะ
ร่วมเรียนรู้ภาษาไทย กับครูโบว์กันค่ะ



ปฏิทิน

เวลาทำการ

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

Hit Counter
Hit Counter Counter
/

วันอาทิตย์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

การพูดในโอกาสต่างๆ


ใบความรู้เรื่อง
การพูดในที่ชุมชน
การพูดในที่ชุมชนคือการพูดในที่สาธารณะมีผู้ฟังเป็นจำนวนมากผู้พูดต้องสนใจปฏิกิริยาตอบสนองผู้ฟังทั้งที่เป็นวัจนภาษาและอวัจนภาษาการพูดต่อหน้าประชุมชนเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้พูดได้แสดงออกถึงความสามารถเฉพาะตัวเพราะทุกคนที่ไม่เป็นใบ้ย่อมพูดได้แต่บางคนเท่านั้นที่พูดเพราะการพูดเป็นทั้งด้านศาสตร์และศิลป์ ไม่จำเป็นต้องอาศัยพรสวรรค์เสมอไปแต่สามารถพูดได้ เพราะการศึกษา การฝึกฝน ฉะนั้นการฝึกพูดในที่ประชุมชน ซึ่งเป็นวิธีที่ดีอีกวิธีหนึ่งในการปรับปรุงบุคลิกภาพทั้งภายในและภายนอกเพื่อการเป็นนักพูดที่ดี
วิธีการพูดในที่ประชุมชนแบ่งออกได้ดังนี้
1.พูดแบบท่องจำ เตรียมเรื่องพูดอย่างมีคุณค่าสาระถูกต้องเหมาะสมแล้วจำเรื่องพูดให้ได้เวลาพูดให้เป็นธรรมชาติ มีลีลา จังหวะ ถ่ายทอดออกมาทุกตัวอักษร
2.พูดแบบมีต้นฉบับพูดไปอ่านไปจากต้นร่างที่เตรียมมาอย่างดีแล้วแต่ไม่ใช่ก้มหน้าก้มตาอ่านเพราะไม่ใช่ผลดีสำหรับผู้พูด
3.พูดจากความเข้าใจเตรียมเรื่องพูดไว้ล่วงหน้าถ่ายทอดสารจากความรู้ความเข้าใจของตนเองมีต้นฉบับเฉพาะหัวข้อสำคัญเท่านั้น เช่น การพูด, สนทนา, อภิปราย, สัมภาษณ์
4.พูดแบบกะทันหันพูดโดยไม่มีโอกาสเตรียมตัวเลยซึ่งผู้พูดต้องใช้ปฏิภาณไหวพริบในกาแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เมื่อทราบว่าตนเองต้องได้พูด ต้องเตรียมลำดับความคิด และนำเสนออย่างฉับพลัน การพูดทั้ง 4 แบบนี้ เป็นวิธีการนำเสนอสารต่อผู้ฟัง ผู้พูดจะใช้วิธีใดขึ้นอยู่กับจุดมุ่งหมายเพื่ออะไร เนื้อหาสาระ โอกาส และสถานการณ์
การพูดในที่ประชุมชนตามโอกาสต่างๆ จำแนกเป็น3 ประเภทดังนี้
1. การพูดอย่างเป็นทางการ เป็นการพูดในพิธีต่าง ๆ มีการวางแผนแนวปฏิบัติไว้อย่างชัดเจน เช่น การปราศรัยของนายกรัฐมนตรี การให้โอวาทของผู้อำนวยการโรงเรียนในวันปฐมนิเทศ การพูดสุนทรพจน์ของรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ การอภิปรายในรัฐสภา ฯลฯ
2. การพูดอย่างไม่เป็นทางการ เป็นการพูดที่ให้บรรยากาศเป็นกันเอง เช่น พูดเพื่อนันทนาการในกิจกรรมต่าง ๆ การพูดสังสรรค์งานชุมนุมศิษย์เก่า การพูดเรื่องตลกในที่ประชุม การกล่าวอวยพรตามโอกาสต่าง ๆ ในงานสังสรรค์
3. การพูดกึ่งทางการ เป็นการพูดที่ลดความเป็นแบบแผนลง เช่น พูดอบรมนักเรียนในคาบจริยธรรม การกล่าวต้อนรับผู้มาเยี่ยมชมการกล่าวขอบคุณผู้ช่วยเหลือกิจกรรมกล่าวบรรยายสรุปแก่ผู้เข้าชมตามสถานที่ต่างๆอนึ่งการพูดในที่ประชุมแต่ละครั้งจะเป็นการพูดประเภทใดผู้พูดจะต้องวิเคราะห์โอกาสและสถานการณ์แล้วเตรียมศิลปะการใช้ภาษาให้ถูกต้องเหมาะสมกับโอกาสนั้นเพื่อที่จะพูดได้ถูกต้อไม่เก้อเขิน เข้ากับบรรยากาศได้ดีมีความประทับใจ
การเตรียมตัวพูดต่อที่ประชุมชน
การพูดในที่ประชุมชนเนื่องจากมีผู้ฟังเป็นจำนวนมากผู้ฟังตั้งความหวังจะได้รับความรู้และสาระประโยชน์จากการฟัง ผู้พูดจึงต้องเตรียมตัวเป็นอย่างดี มีความเชื่อมั่นในตนเอง กล้าแสดงออกจะช่วยให้ผู้พูดประสบความสำเร็จได้ผู้พูดจะเตรียมตัวอย่างไรบ้าง จึงขอเสนอหลักกว้างดังนี้
1.กำหนดจุดมุ่งหมายให้ชัดเจนว่าจะพูดอะไรเพื่ออะไรมีขอบข่ายกว้างขวางมากน้อยเพียงใด
2.วิเคราะห์ผู้ฟังพิจารณาจำนวนผู้ฟัง เพศ วัย การศึกษา สถานภาพทางสังคม อาชีพ ความสนใจ ความมุ่งหวัง และทัศนคติ ที่กลุ่มผู้ฟังมีต่อเรื่องที่พูด และตัวผู้พูดเพื่อนำข้อมูลมาเตรียมพูด เตรียมวิธีการใช้ภาษาให้เหมาะกับผู้ฟัง
3.กำหนดขอบเขตของเรื่องโดยคำนึงถึงเนื้อเรื่องและเวลาที่จะพูดกำหนดประเด็นสำคัญให้ชัดเจน
4.รวบรวมเนื้อหา ต้องจัดเนื้อหาที่ผู้ฟังได้รับประโยชน์มากที่สุดการรวบรวมเนื้อหาทำได้หาได้จากการศึกษาค้นคว้าจากการอ่าน การสัมภาษณ์ ไต่ถามผู้รู้ ใช้ความรู้ความสามารถของตนเอง แล้วจดบันทึก
5.เรียบเรียงเนื้อเรื่อง ผู้พูดจัดทำเค้าโครงเรื่องให้ชัดเจนเป็นไปตามลำดับ จะกล่าวเปิดเรื่องอย่างไร เตรียมการใช้ภาษาให้เหมาะสมกะทัดรัดเข้าใจง่ายตรงประเด็นพอเหมาะกับเวลา
6.การซ้อมพูด เพื่อให้แสดงความมั่นใจต้องซ้อมพูดออกเสียงพูดอักขรวิธี มีลีลาจังหวะ ท่าทาง สีหน้า สายตา น้ำเสียง มีผู้ฟังช่วยติชมการพูด มีการบันทึกเสียงเป็นอุปกรณ์การฝึกซ้อม
ลักษณะของการพูด
1. ใช้ถ้อยคำไพเราะลึกซึ้งกินใจ จับใจ
2. โน้มน้าวให้ผู้ฟังเห็นคล้อยตาม
3. กระตุ้นผู้ฟ้ง มีความมั่นใจ และยินดีร่วมมือ
4. สร้างบรรยากาศให้เกิดความหรรษา และให้ความสุขแก่ผู้ฟัง


ตัวอย่างบทพูดข่าว


สวัสดีอาจารย์และเพื่อนๆทุกคน ดิฉัน น ส. อมรรัตน์ อุปถัมภ์
>ดิฉันคิดว่าทุกคนที่เกิดมาล้วนภูมิใจและคิดว่าตนเองโชคดีที่ได้เกิดมาบนผืนแผ่นดินนี้ ซึ่งเป็นผืนแผ่นดินที่มีการสั่งสมวัฒนธรรมประเพณีที่บรรพบุรุษของเราได้สร้างมาตั้งแต่นมนาน ข่าวที่ดิฉันจะนำมาเล่าต่อไปในวันนี้ก็คือ ข่าวที่มีความเกี่ยวข้องกับประเพณีวัฒนธรรมที่ถือได้วามีความสำคัญกับคนไทยเป็นอย่างมากเมื่อวันที่4 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เพื่อนคงรู้ใช่ไหมค่ะว่าเป็นวันอะไร นั่นก็คือวันลอยกระทง
ใครหลายๆคนก็คงอยากมีความสุกความปลอดภัยในการร่วมงานลอยกระทงนี้ แต่ก็ยังมีการทะเลาะวิวาทของกลุ่มวัยรุ่น 2 กลุ่ม สาเหตุก็เกิดจากการแย่งกันจีบหญิง เหตุเกิดที่ จังหวัด ยโสธร เมื่อเวลา 00.13 น. ร .ต. อ.พงศ์ วิทย์ วัฒนดีได้รับแจ้งจากชาวบ้านว่ามีการก่อการทะเลาะวิวาทกันของวัยรุ่น2 กลุ่ม ผลก็คือ ยิงกันตาย2 ศพ ส่วนประชาชนที่เข้ามาร่วมงานก็ได้ถูกลูกหลงไปด้วยที่สำคัญก็คือชาวต่างชาติที่เข้าร่วมงานได้รับบาดเจ็บ
เพื่อนๆคิดดูนะค่ะว่าประเพณีที่ถือได้วาเป็นเอกลักษณ์และสร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศชาติเรามานาน ชาวต่างชาติต่างต้องการที่จะมาเที่ยว แต่มาเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้น ดิฉันคิดว่าชาวต่างชาติหลายคนคงรู้สึกแย่และกลัวไม่อยากที่จะมาเที่ยวในงานประเพณีของไทยแน่ เราเป็นลูกหลานเราก็ควรที่จะช่วยกันอนุรักษ์ประเพณีของไทยเราให้ทั่วโลกเขาชื่นชมและอยากที่จะมาเที่ยวงานประเพณีของไทยเรา

หลักการเป็นพิธีกร

การเป็นพิธีกร หรือ Master of ceremony ที่เราเรียกกันแบบง่ายๆ ว่า M.C.นั้น เป็นอาชีพที่สำคัญ ในการดึงดูดความสนใจให้ผู้ชม หรือคนดูนั้น ติดตามในสิ่งที่เขาต้องการนำเสนอ ตั้งแต่ต้นไปจนจบรายการ ซึ่งพิธีกรที่ดีจะต้องทำให้ผู้ชมประทับใจในการดำเนินรายการของเขาให้ได้ ทั้งท่วงท่า วาจา กิริยาอาการต่างๆ ตลอด จนความสามารถในการทำให้ผู้ชมมีความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของรายการและให้ความร่วมมือในการทำกิจกรรมต่างๆ เป็นอย่างดี
สิ่งที่สำคัญในการเป็น M.C. คือ
1.การมีน้ำเสียงที่หนักแน่น ชัดเจน และน่าฟัง ไม่ใช่พูดเบาหรือค่อยจนเกินไปหรือพูดติดๆ ขัดๆ ไม่ปะติดปะต่อก็จะทำให้คนดูเสียอรรถรส และจะเบื่อเอาได้ง่ายๆ จึงต้องหมั่นฝึกฝนวิธีการพูด ทั้งการสะกด อักขระต่างๆ การออกเสียง ร ตัวควบกล้ำ ต้องชัดเจน น้ำเสียงต้องฟังง่ายและเป็นมิตรกับคนดู และยังต้องฝึกการพูดให้มีความเร็วที่เหมาะสม ไม่ช้าหรือเร็วจนเกินไป ควรฝึกกลั้นลมหายใจเพราะเวลาพูดต่อกันหลายประโยคนานๆ จะได้ไม่เหนื่อย 2. เวลาพูดควรทำจิตใจให้เบิกบาน เสียงจะได้มีความแจ่มใส และเวลาพูดควรจะมีรอยยิ้มอยู่ด้วยเสมอศึกษาจุดเด่น จุดด้อย ของพิธีกรที่มีชื่อเสียงทั้งของไทยและของต่างประเทศ จับจุดเด่นสูงสุดของเขาให้ได้ว่า อะไรคือสิ่งที่ทำให้พิธีกรคนนั้นเป็นที่ชื่นชมของบุคคลทั่วไป แล้วลองนำเอาสิ่งที่คิดว่าดี มาประยุกต์ให้เหมาะกับตัวเรา 3. ติดตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมอย่างใกล้ชิด เพื่อทำตนเองให้มีความทันสมัยอยู่เสมอ 4. เรียนรู้การใช้เทคนิคการสร้างอารมณ์ขัน หรือเล่นมุข ด้วยการดัดแปลงเหตุการณ์เฉพาะหน้ามาเติมเสน่ห์ให้กับการดำเนินรายการ - จัดทำคลังความรู้ด้านต่าง ๆ เช่น การใช้คำพูด สำนวน สุภาษิต คำพังเพย คำคมต่างๆ เก็บสะสมความรู้เหล่านี้ไว้ เพื่อนำมาใช้ประกอบการดำเนินรายการ 5.ฝึกใช้ความคิดสร้างสรรค์ด้วยการมองเหตุการณ์ต่าง ๆ ในมุมที่คนอื่นมองข้าม แล้วสร้างให้เกิดเสียงหัวเราะ และรอยยิ้ม การเริ่มทำหน้าที่

การเริ่มทำหน้าที่ในฐานะพิธีกรนั้น จะเริ่มต้นที่การเป็นพิธีกรงานใดก็ได้ที่มีพิธีการไม่ยุ่งยาก เช่นงานรื่นเริงในหมู่ญาติ พี่น้อง เพื่อนฝูงที่ไม่มีพิธีการเป็นเรื่องสำคัญ ถัดมาอีกขั้นหนึ่งก็คืองานที่มีพิธีการเล็กน้อยเช่นงานที่เชิญผู้ใหญ่ หรือ คนที่ผู้คนนับหน้าถือตามาเป็นแขกคนสำคัญ ลักษณะของงานนี้ ฝ่ายพิธีการก็จะกำหนดให้มีการแนะนำ สิ่งที่ต้องคำนึงก็คือแนะนำแขก หรือผู้มาร่วมงาน หัวใจสำคัญของการแนะนำแขกอยู่ที่รายชื่อ นามเรียกขาน ยศ ตำแหน่งที่พิธีกรต้องอ่านได้อย่างถูกต้อง การแนะนำแขกที่ดีจะต้องกล่าวตำแหน่งหน้าที่ก่อนจะขานชื่อ ยกตัวอย่างเช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด................................... นาย ..................................................เป็นต้น หรือ รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ กอบเกียรติ ..............................................ขอให้ประหยัดคำนำหน้าว่า ท่าน ให้เหมาะสม หลีกเลี่ยงการเรียกคำว่า ท่าน ตลอดเวลา ถ้าหากจะเป็นการพูดอ้างอิงหรือเป็นการเชิญให้เป็นผู้พูดท่านต่อไปก็อาจจะใช้ได้เช่น ต่อไปขอเรียนเชิญท่านผู้ว่าราชการจังหวัด นาย หรือ คุณ ...............................................................ให้เกียรติเป็นผู้ขึ้นกล่าวอวยพร แก่ผู้ครบรอบวันคล้ายวันเกิดในเดือนนี้ ขอเรียนเชิญครับ/ค่ะ แค่นี้ก็น่าจะพอ ก่อนจะเข้าสู่รายการการแนะนำแขกคนสำคัญที่มาร่วมงาน พิธีกรจะต้องตรวจสอบตัวอักษร รายนามเหล่านั้นให้ครบทุกรายไม่มีเว้น หากจะมีรายชื่อที่ไม่มีใครรู้ที่จะอ่านเช่นไร สามารถสอบถามเจ้าของชื่อนั้นๆได้ เพราะมีชื่อที่ตั้งขึ้นมาใหม่ จะมีการผสมคำเขียนก็ว่ายากพอแล้วยังอ่านไม่ออก ดังนั้นเพื่อให้งานเป็นไปอย่างสมบูรณ์ควรที่พิธีกรจะต้องอ่านให้ถูกต้องเป็นที่ประทับใจแก่ผู้เข้าร่วมงานว่ามางานนี้ได้รับการแนะนำชื่อ นามสกุลอย่างถูกต้อง เจ้าของชื่อแปลกๆก็จะภูมิใจในงานที่มาร่วมนี้อย่างยิ่ง
งานเล็กๆพิธีกรอาจจะดำเนินการสอบถามรายชื่อที่อ่านไม่ออกได้ด้วยตนเอง แต่ถ้าเป็นงานใหญ่ มีผู้คนมาร่วมงานมากมาย หน้าที่ที่สำคัญนี้จะต้องเป็นของฝ่ายพิธีการ ที่ได้รับความร่วมมือจากฝ่ายรับลงทะเบียนจะเป็นผู้ทราบดีว่า ใครคือเจ้าของลายเซ็นที่อ่านไม่ออกนั้น ฝ่ายพิธีการและผู้ช่วย หรือ อนุกรรมการฝ่ายพิธีการบางครั้งมีผู้ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่นี้ แต่ในเวลาที่รีบเร่งเช่นในช่วงของงานที่กำลังจะเข้าสู่ช่วงพิธีการ ผู้ช่วยเหลือเหล่านี้ บางครั้งก็ลืมหน้าที่ตนเอง ไปช่วยฝ่ายอื่นๆ หรือไปนั่งโต๊ะร่วมรับประทานอาหารร่วมกับแขก จึงทำให้บังเกิดความขลุกขลักเพราะไม่มีใครสามารถยืนยันชื่อที่อ่านไม่ออกนั้นได้ วิธีแก้ปัญหาเฉพาะหน้าก็คือ การเว้นข้ามชื่อที่อ่านไม่ออกนั้นไป และหลังจากหาข้อมูลชื่อที่ถูกต้องอ่านได้อย่างชัดเจนแล้วจึงค่อยถือโอกาสพูดแนะนำชื่อที่ตกหล่นในจังหวะที่เหมาะต่อไป ทั้งนี้หากการประชุมเรื่องสำคัญและต่อเนื่องไม่มีช่องว่างพอที่จะแนะนำจำเป็นที่จะต้องรับฟังการต่อว่าต่อขานจากผู้ที่ไม่ได้รับการแนะนำ เนื่องจากเป็นความบกพร่องของทั้งสองฝ่าย ฝ่ายรับลงทะเบียนก็ไม่ได้ระวังว่าชื่อนั้นอ่านไม่ออก ฝ่ายเจ้าของชื่อก็ไม่ระวังเซ็นชื่อหวัดโดยไม่มีการเขียนตัวบรรจงกำกับ ยากที่จะให้คนคาดเดาเป็นชื่อนั้นชื่อนี้ ดังนั้น หากอ่านไม่ออกพิธีกรข้ามชื่อนั้นไปน่าจะได้รับการให้อภัยมากกว่า
ข้อเสนอแนะ พิธีกร ที่ดีนั้น จะต้องเชี่ยวชาญภาษา ปรากฏกายงามสง่า มารยาทดี มีสมาธิ คิดค้นพัฒนา แก้ปัญหา รักษาเวลา สามารถโต้ตอบ นอบน้อมถ่อมตน คือคุณสมบัติของ พิธีกรที่ดี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น