ครูโบว์ยินดีต้อนรับค่ะ เรามาร่วมเรียนรู้ภาษาไทยด้วยกันนะคะ
ร่วมเรียนรู้ภาษาไทย กับครูโบว์กันค่ะ



ปฏิทิน

เวลาทำการ

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

Hit Counter
Hit Counter Counter
/

วันเสาร์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

แบบฝึกหัดครั้งที่2 เรื่องกาพย์เห่เรือ

แบบฝึกหัดครั้งที่ 2
เรื่องกาพย์เห่เรือ
คำศัพท์จากเรื่องกาพย์เห่เรือ
บทชมปลา



1.มัตสยา 2. ชวด 3. นวลจันทร์
4. คางเบือน 5. เพียนทอง 6. ตาด
7. กระแห 8. แก้มช้ำ 9. ปลาทุก
10. น้ำเงิน 11. ปลากราย 12. หางไก่
13. เนื้ออ่อน 14. ปลาเสือ 15. แมลงภู่
16. หวีเกศ(เกด) 17. ชะแวง 18. ชะวาด
19. แปบ

1. ให้นักเรียนหาความหมายของคำศัพท์ต่อไปนี้ใส่ลงสมุดด้านหลัง(ตีลังกา)
2. ให้นักเรียนหาชื่อปลาจากบทประพันธ์ที่ให้ใส่ลงสมุดด้านหลัง(ตีลังกา)

แบบฝึกหัดครั้งที่1 เรื่องกาพย์เห่เรือ

แบบฝึกหัดครั้งที่ 1
คำศัพท์จากเรื่องกาพย์เห่เรือ


บทชมเรือ
1.ประเวศ 2. ชลาลัย 3. กิ่งแก้ว
4. เรือต้น 5. แสนยากร 6. ริ้ว
7. เรือครุฑยุดนาค 8. สรมุข 9. กรองทอง
10. หลังคาแดง 11. แย่งมังกร 12.สุวรรณหงส์
13.หงส์ทรงพรหมินทร์ 14. ลินลาศ 15. เส้า
16.เสียงเส้า 17. เยิ่น 18. คชสีห์
19. ราชสีห์ 20.นาคา 21.มังกร
22. วาสุกรี 23.เลียงผา 24. หน้าอินทรี
25.กาหล 26.นาเวศ 27.นคเรศ

1. ให้นักเรียนหาความหมายของคำศัพท์ต่อไปนี้ใส่ลงสมุดด้านหลัง(ตีลังกา)

2. ให้นักเรียนหาชื่อเรือจากบทประพันธ์ที่ให้ใส่ลงสมุดด้านหลัง(ตีลังกา)

วันอาทิตย์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

การเขียนแสดงทรรศนะ

การเขียนแสดงทัศนะ

ภาพเรือพระราชพิธี

ภาพเรือพระราชพิธี

บทเรียนเรื่องกาพย์เห่เรือ

กาพย์เห่เรือ1

การพูดในโอกาสต่างๆ


ใบความรู้เรื่อง
การพูดในที่ชุมชน
การพูดในที่ชุมชนคือการพูดในที่สาธารณะมีผู้ฟังเป็นจำนวนมากผู้พูดต้องสนใจปฏิกิริยาตอบสนองผู้ฟังทั้งที่เป็นวัจนภาษาและอวัจนภาษาการพูดต่อหน้าประชุมชนเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้พูดได้แสดงออกถึงความสามารถเฉพาะตัวเพราะทุกคนที่ไม่เป็นใบ้ย่อมพูดได้แต่บางคนเท่านั้นที่พูดเพราะการพูดเป็นทั้งด้านศาสตร์และศิลป์ ไม่จำเป็นต้องอาศัยพรสวรรค์เสมอไปแต่สามารถพูดได้ เพราะการศึกษา การฝึกฝน ฉะนั้นการฝึกพูดในที่ประชุมชน ซึ่งเป็นวิธีที่ดีอีกวิธีหนึ่งในการปรับปรุงบุคลิกภาพทั้งภายในและภายนอกเพื่อการเป็นนักพูดที่ดี
วิธีการพูดในที่ประชุมชนแบ่งออกได้ดังนี้
1.พูดแบบท่องจำ เตรียมเรื่องพูดอย่างมีคุณค่าสาระถูกต้องเหมาะสมแล้วจำเรื่องพูดให้ได้เวลาพูดให้เป็นธรรมชาติ มีลีลา จังหวะ ถ่ายทอดออกมาทุกตัวอักษร
2.พูดแบบมีต้นฉบับพูดไปอ่านไปจากต้นร่างที่เตรียมมาอย่างดีแล้วแต่ไม่ใช่ก้มหน้าก้มตาอ่านเพราะไม่ใช่ผลดีสำหรับผู้พูด
3.พูดจากความเข้าใจเตรียมเรื่องพูดไว้ล่วงหน้าถ่ายทอดสารจากความรู้ความเข้าใจของตนเองมีต้นฉบับเฉพาะหัวข้อสำคัญเท่านั้น เช่น การพูด, สนทนา, อภิปราย, สัมภาษณ์
4.พูดแบบกะทันหันพูดโดยไม่มีโอกาสเตรียมตัวเลยซึ่งผู้พูดต้องใช้ปฏิภาณไหวพริบในกาแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เมื่อทราบว่าตนเองต้องได้พูด ต้องเตรียมลำดับความคิด และนำเสนออย่างฉับพลัน การพูดทั้ง 4 แบบนี้ เป็นวิธีการนำเสนอสารต่อผู้ฟัง ผู้พูดจะใช้วิธีใดขึ้นอยู่กับจุดมุ่งหมายเพื่ออะไร เนื้อหาสาระ โอกาส และสถานการณ์
การพูดในที่ประชุมชนตามโอกาสต่างๆ จำแนกเป็น3 ประเภทดังนี้
1. การพูดอย่างเป็นทางการ เป็นการพูดในพิธีต่าง ๆ มีการวางแผนแนวปฏิบัติไว้อย่างชัดเจน เช่น การปราศรัยของนายกรัฐมนตรี การให้โอวาทของผู้อำนวยการโรงเรียนในวันปฐมนิเทศ การพูดสุนทรพจน์ของรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ การอภิปรายในรัฐสภา ฯลฯ
2. การพูดอย่างไม่เป็นทางการ เป็นการพูดที่ให้บรรยากาศเป็นกันเอง เช่น พูดเพื่อนันทนาการในกิจกรรมต่าง ๆ การพูดสังสรรค์งานชุมนุมศิษย์เก่า การพูดเรื่องตลกในที่ประชุม การกล่าวอวยพรตามโอกาสต่าง ๆ ในงานสังสรรค์
3. การพูดกึ่งทางการ เป็นการพูดที่ลดความเป็นแบบแผนลง เช่น พูดอบรมนักเรียนในคาบจริยธรรม การกล่าวต้อนรับผู้มาเยี่ยมชมการกล่าวขอบคุณผู้ช่วยเหลือกิจกรรมกล่าวบรรยายสรุปแก่ผู้เข้าชมตามสถานที่ต่างๆอนึ่งการพูดในที่ประชุมแต่ละครั้งจะเป็นการพูดประเภทใดผู้พูดจะต้องวิเคราะห์โอกาสและสถานการณ์แล้วเตรียมศิลปะการใช้ภาษาให้ถูกต้องเหมาะสมกับโอกาสนั้นเพื่อที่จะพูดได้ถูกต้อไม่เก้อเขิน เข้ากับบรรยากาศได้ดีมีความประทับใจ
การเตรียมตัวพูดต่อที่ประชุมชน
การพูดในที่ประชุมชนเนื่องจากมีผู้ฟังเป็นจำนวนมากผู้ฟังตั้งความหวังจะได้รับความรู้และสาระประโยชน์จากการฟัง ผู้พูดจึงต้องเตรียมตัวเป็นอย่างดี มีความเชื่อมั่นในตนเอง กล้าแสดงออกจะช่วยให้ผู้พูดประสบความสำเร็จได้ผู้พูดจะเตรียมตัวอย่างไรบ้าง จึงขอเสนอหลักกว้างดังนี้
1.กำหนดจุดมุ่งหมายให้ชัดเจนว่าจะพูดอะไรเพื่ออะไรมีขอบข่ายกว้างขวางมากน้อยเพียงใด
2.วิเคราะห์ผู้ฟังพิจารณาจำนวนผู้ฟัง เพศ วัย การศึกษา สถานภาพทางสังคม อาชีพ ความสนใจ ความมุ่งหวัง และทัศนคติ ที่กลุ่มผู้ฟังมีต่อเรื่องที่พูด และตัวผู้พูดเพื่อนำข้อมูลมาเตรียมพูด เตรียมวิธีการใช้ภาษาให้เหมาะกับผู้ฟัง
3.กำหนดขอบเขตของเรื่องโดยคำนึงถึงเนื้อเรื่องและเวลาที่จะพูดกำหนดประเด็นสำคัญให้ชัดเจน
4.รวบรวมเนื้อหา ต้องจัดเนื้อหาที่ผู้ฟังได้รับประโยชน์มากที่สุดการรวบรวมเนื้อหาทำได้หาได้จากการศึกษาค้นคว้าจากการอ่าน การสัมภาษณ์ ไต่ถามผู้รู้ ใช้ความรู้ความสามารถของตนเอง แล้วจดบันทึก
5.เรียบเรียงเนื้อเรื่อง ผู้พูดจัดทำเค้าโครงเรื่องให้ชัดเจนเป็นไปตามลำดับ จะกล่าวเปิดเรื่องอย่างไร เตรียมการใช้ภาษาให้เหมาะสมกะทัดรัดเข้าใจง่ายตรงประเด็นพอเหมาะกับเวลา
6.การซ้อมพูด เพื่อให้แสดงความมั่นใจต้องซ้อมพูดออกเสียงพูดอักขรวิธี มีลีลาจังหวะ ท่าทาง สีหน้า สายตา น้ำเสียง มีผู้ฟังช่วยติชมการพูด มีการบันทึกเสียงเป็นอุปกรณ์การฝึกซ้อม
ลักษณะของการพูด
1. ใช้ถ้อยคำไพเราะลึกซึ้งกินใจ จับใจ
2. โน้มน้าวให้ผู้ฟังเห็นคล้อยตาม
3. กระตุ้นผู้ฟ้ง มีความมั่นใจ และยินดีร่วมมือ
4. สร้างบรรยากาศให้เกิดความหรรษา และให้ความสุขแก่ผู้ฟัง


ตัวอย่างบทพูดข่าว


สวัสดีอาจารย์และเพื่อนๆทุกคน ดิฉัน น ส. อมรรัตน์ อุปถัมภ์
>ดิฉันคิดว่าทุกคนที่เกิดมาล้วนภูมิใจและคิดว่าตนเองโชคดีที่ได้เกิดมาบนผืนแผ่นดินนี้ ซึ่งเป็นผืนแผ่นดินที่มีการสั่งสมวัฒนธรรมประเพณีที่บรรพบุรุษของเราได้สร้างมาตั้งแต่นมนาน ข่าวที่ดิฉันจะนำมาเล่าต่อไปในวันนี้ก็คือ ข่าวที่มีความเกี่ยวข้องกับประเพณีวัฒนธรรมที่ถือได้วามีความสำคัญกับคนไทยเป็นอย่างมากเมื่อวันที่4 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เพื่อนคงรู้ใช่ไหมค่ะว่าเป็นวันอะไร นั่นก็คือวันลอยกระทง
ใครหลายๆคนก็คงอยากมีความสุกความปลอดภัยในการร่วมงานลอยกระทงนี้ แต่ก็ยังมีการทะเลาะวิวาทของกลุ่มวัยรุ่น 2 กลุ่ม สาเหตุก็เกิดจากการแย่งกันจีบหญิง เหตุเกิดที่ จังหวัด ยโสธร เมื่อเวลา 00.13 น. ร .ต. อ.พงศ์ วิทย์ วัฒนดีได้รับแจ้งจากชาวบ้านว่ามีการก่อการทะเลาะวิวาทกันของวัยรุ่น2 กลุ่ม ผลก็คือ ยิงกันตาย2 ศพ ส่วนประชาชนที่เข้ามาร่วมงานก็ได้ถูกลูกหลงไปด้วยที่สำคัญก็คือชาวต่างชาติที่เข้าร่วมงานได้รับบาดเจ็บ
เพื่อนๆคิดดูนะค่ะว่าประเพณีที่ถือได้วาเป็นเอกลักษณ์และสร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศชาติเรามานาน ชาวต่างชาติต่างต้องการที่จะมาเที่ยว แต่มาเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้น ดิฉันคิดว่าชาวต่างชาติหลายคนคงรู้สึกแย่และกลัวไม่อยากที่จะมาเที่ยวในงานประเพณีของไทยแน่ เราเป็นลูกหลานเราก็ควรที่จะช่วยกันอนุรักษ์ประเพณีของไทยเราให้ทั่วโลกเขาชื่นชมและอยากที่จะมาเที่ยวงานประเพณีของไทยเรา

หลักการเป็นพิธีกร

การเป็นพิธีกร หรือ Master of ceremony ที่เราเรียกกันแบบง่ายๆ ว่า M.C.นั้น เป็นอาชีพที่สำคัญ ในการดึงดูดความสนใจให้ผู้ชม หรือคนดูนั้น ติดตามในสิ่งที่เขาต้องการนำเสนอ ตั้งแต่ต้นไปจนจบรายการ ซึ่งพิธีกรที่ดีจะต้องทำให้ผู้ชมประทับใจในการดำเนินรายการของเขาให้ได้ ทั้งท่วงท่า วาจา กิริยาอาการต่างๆ ตลอด จนความสามารถในการทำให้ผู้ชมมีความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของรายการและให้ความร่วมมือในการทำกิจกรรมต่างๆ เป็นอย่างดี
สิ่งที่สำคัญในการเป็น M.C. คือ
1.การมีน้ำเสียงที่หนักแน่น ชัดเจน และน่าฟัง ไม่ใช่พูดเบาหรือค่อยจนเกินไปหรือพูดติดๆ ขัดๆ ไม่ปะติดปะต่อก็จะทำให้คนดูเสียอรรถรส และจะเบื่อเอาได้ง่ายๆ จึงต้องหมั่นฝึกฝนวิธีการพูด ทั้งการสะกด อักขระต่างๆ การออกเสียง ร ตัวควบกล้ำ ต้องชัดเจน น้ำเสียงต้องฟังง่ายและเป็นมิตรกับคนดู และยังต้องฝึกการพูดให้มีความเร็วที่เหมาะสม ไม่ช้าหรือเร็วจนเกินไป ควรฝึกกลั้นลมหายใจเพราะเวลาพูดต่อกันหลายประโยคนานๆ จะได้ไม่เหนื่อย 2. เวลาพูดควรทำจิตใจให้เบิกบาน เสียงจะได้มีความแจ่มใส และเวลาพูดควรจะมีรอยยิ้มอยู่ด้วยเสมอศึกษาจุดเด่น จุดด้อย ของพิธีกรที่มีชื่อเสียงทั้งของไทยและของต่างประเทศ จับจุดเด่นสูงสุดของเขาให้ได้ว่า อะไรคือสิ่งที่ทำให้พิธีกรคนนั้นเป็นที่ชื่นชมของบุคคลทั่วไป แล้วลองนำเอาสิ่งที่คิดว่าดี มาประยุกต์ให้เหมาะกับตัวเรา 3. ติดตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมอย่างใกล้ชิด เพื่อทำตนเองให้มีความทันสมัยอยู่เสมอ 4. เรียนรู้การใช้เทคนิคการสร้างอารมณ์ขัน หรือเล่นมุข ด้วยการดัดแปลงเหตุการณ์เฉพาะหน้ามาเติมเสน่ห์ให้กับการดำเนินรายการ - จัดทำคลังความรู้ด้านต่าง ๆ เช่น การใช้คำพูด สำนวน สุภาษิต คำพังเพย คำคมต่างๆ เก็บสะสมความรู้เหล่านี้ไว้ เพื่อนำมาใช้ประกอบการดำเนินรายการ 5.ฝึกใช้ความคิดสร้างสรรค์ด้วยการมองเหตุการณ์ต่าง ๆ ในมุมที่คนอื่นมองข้าม แล้วสร้างให้เกิดเสียงหัวเราะ และรอยยิ้ม การเริ่มทำหน้าที่

การเริ่มทำหน้าที่ในฐานะพิธีกรนั้น จะเริ่มต้นที่การเป็นพิธีกรงานใดก็ได้ที่มีพิธีการไม่ยุ่งยาก เช่นงานรื่นเริงในหมู่ญาติ พี่น้อง เพื่อนฝูงที่ไม่มีพิธีการเป็นเรื่องสำคัญ ถัดมาอีกขั้นหนึ่งก็คืองานที่มีพิธีการเล็กน้อยเช่นงานที่เชิญผู้ใหญ่ หรือ คนที่ผู้คนนับหน้าถือตามาเป็นแขกคนสำคัญ ลักษณะของงานนี้ ฝ่ายพิธีการก็จะกำหนดให้มีการแนะนำ สิ่งที่ต้องคำนึงก็คือแนะนำแขก หรือผู้มาร่วมงาน หัวใจสำคัญของการแนะนำแขกอยู่ที่รายชื่อ นามเรียกขาน ยศ ตำแหน่งที่พิธีกรต้องอ่านได้อย่างถูกต้อง การแนะนำแขกที่ดีจะต้องกล่าวตำแหน่งหน้าที่ก่อนจะขานชื่อ ยกตัวอย่างเช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด................................... นาย ..................................................เป็นต้น หรือ รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ กอบเกียรติ ..............................................ขอให้ประหยัดคำนำหน้าว่า ท่าน ให้เหมาะสม หลีกเลี่ยงการเรียกคำว่า ท่าน ตลอดเวลา ถ้าหากจะเป็นการพูดอ้างอิงหรือเป็นการเชิญให้เป็นผู้พูดท่านต่อไปก็อาจจะใช้ได้เช่น ต่อไปขอเรียนเชิญท่านผู้ว่าราชการจังหวัด นาย หรือ คุณ ...............................................................ให้เกียรติเป็นผู้ขึ้นกล่าวอวยพร แก่ผู้ครบรอบวันคล้ายวันเกิดในเดือนนี้ ขอเรียนเชิญครับ/ค่ะ แค่นี้ก็น่าจะพอ ก่อนจะเข้าสู่รายการการแนะนำแขกคนสำคัญที่มาร่วมงาน พิธีกรจะต้องตรวจสอบตัวอักษร รายนามเหล่านั้นให้ครบทุกรายไม่มีเว้น หากจะมีรายชื่อที่ไม่มีใครรู้ที่จะอ่านเช่นไร สามารถสอบถามเจ้าของชื่อนั้นๆได้ เพราะมีชื่อที่ตั้งขึ้นมาใหม่ จะมีการผสมคำเขียนก็ว่ายากพอแล้วยังอ่านไม่ออก ดังนั้นเพื่อให้งานเป็นไปอย่างสมบูรณ์ควรที่พิธีกรจะต้องอ่านให้ถูกต้องเป็นที่ประทับใจแก่ผู้เข้าร่วมงานว่ามางานนี้ได้รับการแนะนำชื่อ นามสกุลอย่างถูกต้อง เจ้าของชื่อแปลกๆก็จะภูมิใจในงานที่มาร่วมนี้อย่างยิ่ง
งานเล็กๆพิธีกรอาจจะดำเนินการสอบถามรายชื่อที่อ่านไม่ออกได้ด้วยตนเอง แต่ถ้าเป็นงานใหญ่ มีผู้คนมาร่วมงานมากมาย หน้าที่ที่สำคัญนี้จะต้องเป็นของฝ่ายพิธีการ ที่ได้รับความร่วมมือจากฝ่ายรับลงทะเบียนจะเป็นผู้ทราบดีว่า ใครคือเจ้าของลายเซ็นที่อ่านไม่ออกนั้น ฝ่ายพิธีการและผู้ช่วย หรือ อนุกรรมการฝ่ายพิธีการบางครั้งมีผู้ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่นี้ แต่ในเวลาที่รีบเร่งเช่นในช่วงของงานที่กำลังจะเข้าสู่ช่วงพิธีการ ผู้ช่วยเหลือเหล่านี้ บางครั้งก็ลืมหน้าที่ตนเอง ไปช่วยฝ่ายอื่นๆ หรือไปนั่งโต๊ะร่วมรับประทานอาหารร่วมกับแขก จึงทำให้บังเกิดความขลุกขลักเพราะไม่มีใครสามารถยืนยันชื่อที่อ่านไม่ออกนั้นได้ วิธีแก้ปัญหาเฉพาะหน้าก็คือ การเว้นข้ามชื่อที่อ่านไม่ออกนั้นไป และหลังจากหาข้อมูลชื่อที่ถูกต้องอ่านได้อย่างชัดเจนแล้วจึงค่อยถือโอกาสพูดแนะนำชื่อที่ตกหล่นในจังหวะที่เหมาะต่อไป ทั้งนี้หากการประชุมเรื่องสำคัญและต่อเนื่องไม่มีช่องว่างพอที่จะแนะนำจำเป็นที่จะต้องรับฟังการต่อว่าต่อขานจากผู้ที่ไม่ได้รับการแนะนำ เนื่องจากเป็นความบกพร่องของทั้งสองฝ่าย ฝ่ายรับลงทะเบียนก็ไม่ได้ระวังว่าชื่อนั้นอ่านไม่ออก ฝ่ายเจ้าของชื่อก็ไม่ระวังเซ็นชื่อหวัดโดยไม่มีการเขียนตัวบรรจงกำกับ ยากที่จะให้คนคาดเดาเป็นชื่อนั้นชื่อนี้ ดังนั้น หากอ่านไม่ออกพิธีกรข้ามชื่อนั้นไปน่าจะได้รับการให้อภัยมากกว่า
ข้อเสนอแนะ พิธีกร ที่ดีนั้น จะต้องเชี่ยวชาญภาษา ปรากฏกายงามสง่า มารยาทดี มีสมาธิ คิดค้นพัฒนา แก้ปัญหา รักษาเวลา สามารถโต้ตอบ นอบน้อมถ่อมตน คือคุณสมบัติของ พิธีกรที่ดี

วันพุธที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2553


ใบความรู้
เรื่องหลักการแต่งคำประพันธ์ประเภทฉันท์
นักเรียนได้เรียนรู้การแต่งคำประพันธ์กาพย์ กลอน โคลง และร่ายมาแล้วในชั้นก่อนในชั้นนี้นักเรียนจะได้เรียนรู้การแต่งคำประพันธ์ประเภทฉันท์ซึ่งเป็นคำประพันธ์ที่แต่งยาก และอ่านยากกว่าคำประพันธ์ทุกชนิด เพราะฉันท์มีข้อบังคับเรื่องคำครุ ลหุ เพิ่มขึ้นและคำและคำที่ใช้ในการแต่งฉันท์นั้นส่วนใหญ่เป็นคำที่มาจากภาษาบาลี สันสกฤตเพราะคำไทยหาคำลหุที่มีความหมายได้ยาก
การศึกษาให้เข้าใจรูปแบบและลักษณะบังคับของฉันท์ จะช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจคำประพันธ์ประเภทฉันท์ สามารถอ่านออกเสียงได้ถูกต้อง และเข้าใจความหมายได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ความรู้เรื่องฉันท์ที่จะกล่าวถึงต่อไปในบทนี้ มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับลักษณะบังคับของฉันท์ที่กวีไทยนิยมแต่ง และปรากฏอยู่ในวรรณคดีประเภทคำฉันท์ของไทย เพื่อให้นักเรียนใช้เป็นความรู้พื้นฐานในการแต่งฉันท์ และในการอ่านวรรณคดีไทยให้เข้าใจยิ่งขึ้น
• ฉันท์ หมายถึง คำประพันธ์ชนิดหนึ่งของไทยที่มีข้อบังคับ เรื่องครุ ลหุ เพิ่มขึ้น
นอกเหนือจากเรื่องคณะและ สัมผัสซึ่งเป็นข้อบังคับในคำประพันธ์ชนิดอื่น
• ประเภทของฉันท์
• ฉันท์มากมายหลายชนิด การแบ่งชนิดของฉันท์ตามฉันทลักษณ์ให้สะดวกแก่การศึกษาอาจแบ่งเป็น ๓ ประเภท
ประเภทที่ ๑ ฉันท์ ๑๑ ฉันท์ ๑๒ และฉันท์ ๑๔ ฉันท์ประเภทนี้แบ่งเป็น ๒ บาท มีสัมผัสเหมือนกัน แต่ลักษณะการอ่านแตกต่างกันตามตำแหน่งคำครุ ลหุ มีสัมผัสบังคับ
• คือ สัมผัสระหว่างบาทและระหว่างบท คือ คำสุดท้ายของบทเอก ( บาทที่หนึ่ง) ส่งสัมผัสไปยังคำสุดท้ายในวรรคแรกของบาทโท ( บาทที่สอง) ถ้าแต่งมากกว่าหนึ่งบท ต้องมีสัมผัสระหว่างบท
คือ คำสุดท้ายของบทแรกจะต้องส่งสัมผัสไปยังคำสุดท้ายของบาทเอกในบทต่อไป ส่วนสัมผัสที่เป็นเส้นประในแผนผัง เป็นสัมผัสระหว่างวรรคแรกส่งสัมผัสไปยังคำที่สามของวรรคที่สองในบาทเดียวกัน เป็นสัมผัสที่ไม่บังคับ บางบทจะมีสัมผัสดังกล่าว แต่บางบทก็ไม่มี

• ฉันท์ทั้ง ๒๔ ชนิด มีชื่อ และลักษณะต่างๆ กัน
• ๑.จิตรปทาฉันท์ ๘ ๒. วิชชุมาลาฉันท์ ๘
• ๓. มาณวกฉันท์ ๘ ๔. ปมาณิกฉันท์ ๘
• ๕. อุปัฏฐิตาฉันท์ ๑๑ ๖. อินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑
• ๗. อุเปนทรวิเชียรฉันท์ ๑๑ ๘. อุปชาติฉันท์ ๑๑
• ๙. สาลินีฉันท์ ๑๑ ๑๐. อาขยานิกาฉันท์ ๑๑
• ๑๑. วังสัฏฐฉันท์ ๑๒ ๑๒. อินทวงสฉันท์ ๑๒
• ๑๓. โตฎกฉันท์ ๑๒ ๑๔. ภุชงคประยาตฉันท์ ๑๒
• ๑๕. กมลฉันท์ ๑๒ ๑๖. วสันตดิลกฉันท์ ๑๔
• ๑๗. มาลินีฉันท์ ๑๕ ๑๘. ประภัททกฉันท์ ๑๕
• ๑๙. วาณินีฉันท์ ๑๖ ๒๐. กุสุมิตลดาเวลลิตาฉันท์ ๑๘
• ๒๑. เมฆวิปผุชชิตาฉันท์ ๑๙ ๒๒. สัททุลวิกกีฬิตฉันท์ ๑๙
๒๓. อีทิสฉันท์ ๒๐ ๒๔. สัทธราฉันท์ ๒๑






• เนื่องจากฉันท์แต่ละชนิดมีลีลาไม่เหมือนกัน กวีจึงนิยมเลือกฉันท์ให้เหมาะสมกับเนื้อความที่ต้องการแต่ง ดังนี้
• ๑. บทไว้ครู บทนมัสการสิ่งศักดิ์สิทธิ์ บทสรรเสริญพระเกียรติ ที่ต้องการให้มีความขลัง นิยมใช้ลัททุลวิกกีฬิตฉันท์
• ๒. บทพรรณนา บทชม หรือบทคร่ำครวญ เช่น พรรณนาความงามธรรมชาติ พรรณนาความงามของบ้านเมือง ชมความงามของผู้หญิง พรรณนาความรักและความเศร้าโศก เป็นต้น นิยมใช้วสันตดิลกฉันท์ หรืออินทรวิเชียรฉันท์
๓. บทแสดงอารมณ์รุนแรง เช่น โกรธ ตื่นเต้น และวิตกกังวล เป็นต้น หรือบรรยายเกี่ยวกับความรักที่เน้นอารมณ์
• ความนิยมในการเลือกใช้ฉันท์แต่งให้เหมาะสมกับเนื้อความที่กล่าวมานี้ มิได้เป็นข้อกำหนดตายตัวเป็นเพียงข้อสังเกต สำหรับใช้เป็นแนวทางในการพิจารณาเลือกใช้ฉันท์ให้เหมาะกับเนื้อความเท่านั้น
• การอ่านฉันท์
เนื่องจากฉันท์เป็นคำประพันธ์ที่บังคับครุลหุ การอ่านฉันท์จึงต้องอ่านให้ถูกต้องตามตำแหน่งคำครุลหุ และลีลาจังหวะของฉันท์แต่ละชนิด คำบางคำที่ปกติอ่านออกเสียงเป็นครุ เช่น คำว่า สุข (สุก) อาจจะออกเสียบงเป็นลหุสองพยางค์ว่า สุ-ขะ หรือออกเสียงว่า สุก-ขะ เมื่อบังคับให้อ่านเป็นครุเรียงกัน



วันจันทร์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

การพินิจวรรณกรรม


การพินิจวรรณกรรม
หลักการพินิจวรรณคดีและวรรณกรรม
การพินิจหรือการพิจารณาคุณค่าของวรรณคดีหรือวรรณกรรม ไม่ว่าจะเป็นร้อยแก้วหรือร้อยกรองเราพิจารณาด้วยหลักการกว้าง ๆ คล้ายกัน คือ เราอาจจะตั้งคำถามง่าย ๆ ว่างานประพันธ์ชิ้นนั้นหรือเรื่องนั้นให้อะไรแก่คนอ่านบ้าง

ความหมาย
การพินิจ คือ การพิจารณาตรวจตรา พร้อมทั้งวิเคราะห์แยกแยะและประเมินค่าได้ทั้งนี้นอกจากจะได้ประโยชน์ต่อตนเองแล้ว ยังมีจุดประสงค์เพื่อนำไปแสดงความคิดเห็นและข้อเท็จจริงให้ผู้อื่นได้ทราบด้วย เช่น การพินิจวรรณคดีและวรรณกรรมเพื่อแนะนำให้บุคคลทั่วไปที่เป็นผู้อ่านได้รู้จักและได้ทราบรายละเอียดที่เป็นประโยชน์ในด้านต่าง ๆ เช่น ใครเป็นผู้แต่ง เป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร มีประโยชน์ต่อใครบ้าง ทางด้านใด ผู้พินิจมีความเห็นว่าอย่างไร คุณค่าในแต่ละด้านสามารถนำไปประยุกต์ให้เกิดประโยชน์อย่างไรในชีวิตประจำวัน


แนวทางในการพินิจวรรณคดีและวรรณกรรม
การพินิจวรรณคดีและวรรณกรรมมีแนวให้ปฏิบัติอย่างกว้าง ๆ เพื่อให้ครอบคลุมงานเขียนทุกชนิด ซึ่งผู้พินิจจะต้องดูว่าจะพินิจหนังสือชนิดใด มีลักษณะเฉพาะอย่างไร ซึ่งจะมีแนวในการพินิจที่จะต้องประยุกต์หรือปรับใช้ให้เหมาะสมกับงานเขียนนั้น ๆ
หลักเกณฑ์กว้าง ๆ ในการพินิจวรรณคดีและวรรณกรรม มีดังนี้
๑.ความเป็นมาหรือประวัติของหนังสือและผู้แต่ง เพื่อช่วยให้วิเคราะห์ในส่วนอื่น ๆ ได้ดีขึ้น
๒.ลักษณะคำประพันธ์
๓.เรื่องย่อ
๔.เนื้อเรื่อง ให้วิเคราะห์เรื่องตามหัวข้อต่อไปนี้ตามลำดับ โดยบางหัวข้ออาจจะมีหรือไม่มีก็ได้ตามความจำเป็น เช่น โครงเรื่อง ตัวละคร ฉาก วิธีการแต่ง ลักษณะการเดินเรื่อง การใช้ถ้อยคำสำนวนในเรื่อง ท่วงทำนองการแต่ง วิธีคิดที่สร้างสรรค์ ทัศนะหรือมุมมองของผู้เขียน เป็นต้น
๕.แนวคิด จุดมุ่งหมาย เจตนาของผู้เขียนที่ฝากไว้ในเรื่อง หรือบางทีก็แฝงเอาไว้ในเรื่อง ซึ่งจะต้องวิเคราะห์ออกมา
๖.คุณค่าของวรรณคดีและวรรณกรรม ซึ่งโดยปกติแล้วจะแบ่งออกเป็น ๔ ด้านใหญ่ ๆ และกว้าง ๆ เพื่อความครอบคลุมในทุกประเด็น ซึ่งผู้พินิจจะต้องไปแยกแยะหัวข้อย่อยให้สอดคล้องกับลักษณะหนังสือที่จะพินิจนั้น ๆ ตามความเหมาะสมต่อไป

การพินิจคุณค่าของวรรณคดีและวรรณกรรม มี ๔ ประเด็นดังนี้
๑.คุณค่าด้านวรรณศิลป์ คือ ความไพเราะของบทประพันธ์ ซึ่งอาจจะเกิดจากรสของคำที่ผู้แต่งเลือกใช้ และรสความที่ให้ความหมายกระทบใจผู้อ่าน
๒.คุณค่าด้านเนื้อหา คือ การให้ความรู้ด้านต่าง ๆ ให้คุณค่าทางปัญญาและความคิดแก่ผู้อ่าน
๓.คุณค่าด้านสังคม วรรณคดีและวรรณกรรมสะท้อนให้เห็นภาพของสังคมในอดีตและวรรณกรรมที่ดีสามารถจรรโลงสังคมได้อีกด้วย
๔.การนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อให้ผู้อ่านได้ประจักษ์ในคุณค่าของชีวิต ได้ความคิดและประสบการณ์จากเรื่องที่อ่าน และนำไปใช้ในการดำเนินชีวิต นำไปเป็นแนวปฏิบัติหรือแก้ปัญหารอบ ๆ ตัว






บทกวีร่วมสมัยเรื่อง จันทร์เข้าขา

จันทร์เอ๋ยจันทร์เข้าขา ฉันเกิดมาในเมืองหลวง
จันทร์เด่นเห็นเต็มดวง โชติช่วงอยู่รูหลังคา
จันทร์จ๋าจันทร์เจ้าเอ๋ย ฉันไม่เคยได้ศึกษา
วันวันวิ่งไปมา ขายมาลัยให้รถยนต์
จันทร์เอ๋ยพระจันทร์เจ้า ฉันต้องเฝ้าอยู่บนถนน
แดดร้อนไม่ร้อนรน เท่าร้อนใจไม่มีกิน
จันทร์เอ๋ยจันทร์เจ้าขา ขอหลังคาคลุมแผ่นดิน
ขอมุ้งกันยุงริ้น ขอผ้าห่มให้คลายหนาว
จันทร์จ๋าจันทร์เจ้าเอ๋ย ฉันไม่เคยรู้เรื่องราว
ก. ไก่ ข. ไข่ดาว ขอครูด้วยช่วยสอนฉัน
จันทร์เอ๋ยพระจันทร์เจ้า ขอคนเรารักผูกพัน
ขอสิทธิเท่าเทียมกัน ขอสักวันฉันมีกิน ฯ


(ที่มา : เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์)

ตัวอย่างการพินิจวรรณกรรม ประเภทบทกวี เรื่อง จันทร์เจ้าขา
เรื่อง จันทร์เจ้าขา คัดมาจากบทกวีชุด “เพลงขลุ่ยเหนือทุ่งข้าว” บทนี้แต่งด้วยกาพย์ยานี ๑๑จำนวน ๖ บท ข้อความบางวรรคที่ปรากฏอยู่ในบทกวีร่วมสมัยนี้คล้ายกับบทร้องเล่นของเด็กที่หลายคนจำได้ แต่ผู้เขียนได้นำมาเสนอใหม่ให้มีเนื้อหาสาระสะท้อนสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของสังคมปัจจุบันได้อย่างน่าสนใจ
ประวัติผู้แต่ง
เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ เป็นผู้ซึ่งมีผลงานบทกวีที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในปัจจุบัน บทกวีของท่านชุด “เพียงความเคลื่อนไหว” ได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ในปี พ.ศ.๒๕๒๓ คณะกรรมการตัดสินรางวัล ได้กล่าวถึงผลงาน เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ไว้ว่า “ความสามารถในการใช้รูปแบบกวีนิพนธ์ของเขา นั้นเป็นที่ยอมรับอยู่แล้ว เขาเป็นศิลปินผู้เชี่ยวชาญทั้งในด้านฉันทลักษณ์ตามแบบแผน และทั้งด้านเพลงพื้นบ้านถึงขนาดที่เรียกว่าในเพลงกล่อมเด็ก เนาวรัตน์ก็อาจสอดสาระทางการเมืองและสังคมที่ร้อนแรงได้”
รูปแบบการแต่งและลักษณะคำประพันธ์
บทกวีร่วมสมัยเรื่อง “จันทร์เจ้าขา” กวีเลือกใช้กาพย์ยานี ๑๑ โดยมีบางวรรคเหมือนกับบทร้องเล่นของเด็กที่รู้จักกันดีอยู่แล้ว คือ “จันทร์เอ๋ยจันทร์เจ้าขา” ในภาพรวมแล้วกวีเลือกใช้ถ้อยคำได้ไพเราะน่าสนใจ ลีลาของกาพย์โดดเด่นไปตามลักษณะของกวีร่วมสมัย
คุณค่าของบทกวี จันทร์เจ้าขา
๑.คุณค่าด้านวรรณศิลป์
ความเด่นของบทกวีบทนี้อยู่ที่การเลือดคำง่าย ๆ มาสะท้อนปัญหาที่พบเห็นอยู่ทั่วไป บางวรรคกวีใช้คำน้อยแต่กินความหมายลึกซึ้ง เช่น กวีบรรยายภาพบ้านของเด็กในเรื่องว่า “จันทร์เด่นเห็นเต็มดวง โชติช่วงอยู่รูหลังคา” วรรคหลังนี้แสดงภาพบ้านสะท้อนฐานะความเป็นอยู่ได้ชัดเจนและสะเทือนใจ กวีเลือกใช้คำที่ซ้ำกันเกือบทั้งวรรค เช่น “จันทร์เอ๋ยจันทร์เจ้าขา” “จันทร์จ๋าจันทร์เจ้าเอ๋ย” หรือ “จันทร์เอ๋ยพระจันทร์เจ้า” การจงใจซ้ำคำทำให้เกิดความเน้น และความสืบเนื่องของเนื้อหาที่นำเสนอ การซ้ำคำอีกลักษณะหนึ่งทำให้ได้เนื้อหาที่ลึกซึ้งกินใจ เช่น “เดือดร้อนไม่ร้อนรน เท่าร้อนใจไม่มีกิน” เป็นต้น
๒.คุณค่าด้านเนื้อหา
เนื้อหาสาระที่กวีนำเสนอ ถือว่าเป็นจุดเด่นของกวีร่วมสมัยที่เลือกเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับปัญหาที่ยังคงมีอยู่ในปัจจุบัน เป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องที่แก้ไขได้ยาก บทกวีร่วมสมัยเรื่อง “จันทร์เจ้าขา” นอกจากจะเสนอเนื้อหาความต้องการปัจจัยสี่แล้ว เนื้อหาของบทกวียังแสดงออกถึงการเรียกร้องเชิงอุดมคติ คือ “ขอคนเรารักผูกพัน” และ “ขอสิทธิเท่าเทียมกัน”
๓.คุณค่าด้านสังคมและการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน
บทกวีร่วมสมัยย่อมสะท้อนสภาพสังคมของกวีร่วมสมัยตามมุมมองของกวี โดยในเรื่อง “จันทร์เจ้าขา” ได้เลือกที่จะใช้ฉากปัจจุบันของกรุงเทพมหานครที่มีปัญหาสังคมขนาดเขื่องอยู่ในความเจริญรุ่งเรืองหรูหรา แต่อีกมุมหนึ่งของความรุ่งเรืองหรูหรานั้น มีเด็กจำนวนมากวิ่งขายพวงมาลัยตามสี่แยกซึ่งทั้งยากจนและไร้การศึกษา กวีมีเจตนาที่จะชี้ให้เห็น “มุมตัด” ที่แตกต่างหรือเป็น “ช่องว่าง” ของสภาพความยากจน การดิ้นรนเพื่อปากท้อง สภาพของเด็กไร้การศึกษาแม้ว่าตะอยู่ในเมืองหลวง มีคนร่ำรวย มีมหาเศรษฐีมากมาย อีกทั้งเป็นศูนย์กลางของความเจริญและอำนาจรัฐ
แนวความคิดและมุมมองในเรื่อง “จันทร์เจ้าขา” เป็นเสมือนสิ่งกระตุ้นเตือนให้มนุษย์ผู้รับผิดชอบนำไปพัฒนาความคิดเพื่อหาวิธีการแก้ปัญหา บทกวีที่ว่า “จันทร์เด่นเห็นเต็มดวง โชติช่วงอยู่รูหลังคา” มีความหมายถึง หลังคาที่อยู่อาศัย ผุ ๆ รั่วๆ หรือไม่มีแม้ที่อยู่อาศัย แต่อาศัยนอนซุกอยู่ตามซอกรูหลังคาที่ใดที่หนึ่งที่มีอยู่มากมาย ซึ่งกวีหวังว่าผู้รับผิดชอบอาจจะนำไปแก้ปัญหา ถึงแม้ว่าจะดูว่าค่อนข้างจะเป็นอุดมคติเกินไป (คือแก้ไม่ได้) ในสังคมแบบทุนนิยม แต่อย่างน้อยผู้อ่านก็ยังได้ตระหนักถึงปัญหาความไม่เท่าเทียมกันในสังคม ด้วยหวังว่าคงจะมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อผู้ด้อยโอกาส ได้สนับสนุน ได้ผลักดัน ให้เขาได้มีความจำเป็นในขั้นพื้นฐานคือ มีกิน มีการศึกษา และถ้าเป็นไปได้ก็คือมีสิทธิเท่าเทียมกับคนอื่น
การใช้สำนวนโวหาร

ขั้นตอนในการเตรียมตัวเขียน นอกจากจะต้องเตรียมข้อมูลจัดทำโครงเรื่องแล้ว ควรเลือกใช้สำนวนโวหารให้เหมาะกับเนื้อความที่ จะเขียน สำนวนโวหารในภาษาไทย แบ่งออกเป็น 5 คือ
1) บรรยายโวหาร
2) พรรณนาโวหาร

3) เทศนาโวหาร
4) สาธกโวหาร
5) อุปมาโวหาร
1. บรรยายโวหาร คือ โวหารที่ใช้เล่าเรื่อง หรืออธิบายเรื่องราวต่าง ๆ ตามลำดับเหตุการณ์ การเขียนบรรยายโวหาร จะมุ่งความชัดเจน เขียน ตรงไปตรงมา รวบรัด กล่าวถึงแต่สาระสำคัญไม่จำเป็นต้องมีพลความ หรือความปลีกย่อยเสริม ในการเขียนทั่ว ๆ ไปมักใช้บรรยายโวหาร เพราะเหมาะในการติดต่อสื่อสารเนื่องจากสำนวนประเภทนี้มุ่งสาระเขียนอย่างสั้น ๆ ได้ความชัดเจนงานเขียนที่ควรใช้บรรยายโวหาร ได้แก่ การเขียนอธิบายประเภทต่าง ๆเช่น เขียนรายงานวิทยานิพนธ์ ตำรา บทความ การเขียนเพื่อเล่าเรื่อง เช่น บันทึก จดหมายเหตุ การเขียนเพื่อแสดงความคิดเห็นประเภทบทความเชิงวิจารณ์ ข่าว เป็นต้น
หลักการเขียนบรรยายโวหาร
1) เรื่องที่เขียนต้องเป็นเรื่องจริง ผู้เขียนควรมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องที่จะเขียนเป็นอย่างดี โดยอาจรู้มาจากประสบการณ์ หรือการค้นคว้าก็ได้
2) เลือกเขียนเฉพาะสาระสำคัญ ไม่เน้นรายละเอียด แต่เขียนตรงไปตรงมาไม่อ้อมค้อม
3) ใช้ภาษาให้เข้าใจง่าย หากต้องการจะกล่าวให้ชัดอาจใช้อุปมาโวหารและสาธกโวหารเข้าช่วยได้บ้าง แต่ต้องไม่มากจนส่วน ที่เป็นสาระสำคัญกลายเป็นส่วนด้อยไป
4) เรียบเรียงความคิดให้ต่อเนื่อง และสัมพันธ์กัน
2. พรรณนาโวหาร มีจุดมุ่งหมายในการเขียนต่างจากบรรยายโวหาร คือมุ่งให้ความแจ่มแจ้ง ละเอียดลออ เพื่อให้ผู้อ่านเกิดอารมณ์ซาบซึ้งเพลิดเพลินไปกับข้อความนั้นการเขียนพรรณาโวหารจึงยาวกว่าบรรยายโวหารมาก แต่มิใช่การเขียนอย่างเยิ่นเย้อ เพราะพรรณนา-โวหารต้องมุ่งให้ภาพ และอารมณ์ ดังนั้น จึงมักใช้การเล่นคำ เล่นเสียง ใช้ภาพพจน์ แม้เนื้อความที่เขียนจะน้อยแต่เต็มด้วยสำนวนโวหารที่ไพเราะ อ่านได้รสชาติ

หลักการเขียนพรรณนาโวหาร
1) ต้องใช้คำดี หมายถึง การเลือกสรรถ้อยคำ เพื่อให้สื่อความหมาย สื่อภาพ สื่ออารมณ์เหมาะสมกับเนื้อเรื่องที่ต้องการบรรยาย ควรเลือกคำ ที่ให้ความหมายชัดเจน ทั้งอาจต้องเลือกให้เสียงคำสัมผัสกันเพื่อเกิดเสียงเสนาะอย่างสัมผัสสระ สัมผัสอักษร ในงานร้อยกรอง
2) ต้องมีใจความดี แม้จะพรรณนายืดยาว แต่ใจความต้องมุ่งให้เกิดภาพ และอารมณ์ความรู้สึกสอดคล้องกับเนื้อหาที่กำลังพรรณนา
3) อาจต้องใช้อุปมาโวหาร คือ การเปรียบเทียบเพื่อให้ได้ภาพชัดเจน และมักใช้ศิลปะการใช้คำที่เรียกว่า ภาพพจน์ประเภทต่าง ๆ ทั้งนี้เป็นวิธีการที่จะทำให้พรรณนาโวหารเด่น ทั้งการใช้คำ และการใช้ภาพที่แจ่มแจ้ง อ่านแล้วเกิดจินตนาการและความรู้สึกคล้อยตาม
4) ในบางกรณีอาจต้องใช้สาธกโวหารประกอบด้วย คือ การยกตัวอย่างเพื่อให้เกิดความแจ่มแจ้ง โดยยกตัวอย่างสิ่งที่ละม้ายคล้ายคลึงกัน เพื่อให้เกิดภาพและอารมณ์เด่นชัดพรรณนาโวหารมักใช้กับการชมความงามอื่น ๆ เช่น ชมสถานที่ สรรเสริญบุคคล หรือใช้พรรณนาอารมณ์ ความรู้สึก เช่น รัก เกลียด โกธร แค้น เศร้าสลด เป็นต้น
3. เทศนาโวหาร หมายถึง โวหารที่มีจุดหมายแสดงความแจ่มแจ้งเพื่อให้ผู้อ่านคล้อยตามหรืออาจกล่าวได้ว่ามุ่งชักจูงให้ผู้อ่าน คิดเห็นหรือคล้อยตามความคิดเห็นของผู้เขียนเทศนาโวหาร จึงยากกว่าโวหารที่กล่าวมาแล้วทั้ง 2 โวหาร เพราะต้องใช้กลวิธีในการชักจูงใจ

หลักการเขียนเทศนาโวหาร
การเขียนเทศนาโวหารต้องใช้โวหารประเภทต่าง ๆ มาประกอบ กล่าวคือทั้งใช้บรรยายโวหาร พรรณนาโวหาร รวมทั้งอุปมาโวหาร และ สาธกโวหารด้วย ทั้งนี้เพื่อให้ใจความชัดเจนแจ่มแจ้ง มีทั้งความหลักและความรองเป็นที่เข้าใจจนเกิดความรู้สึกนึกคิดคล้อยตามผู้เขียน ไปได้หากเป็นการแสดงความคิดเห็นควรอธิบายทั้งด้านที่เป็นประโยชน์และโทษ หรือแสดงเหตุและผลการเขียนเทศนาโวหาร ผู้เขียนต้อง มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องที่เขียนเป็นอย่างดี สามารถอธิบายอย่างชัดเจน ทั้งควรพรรณนาให้เกิดความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ต้องรู้จักใช้เหตุผล และหลักฐานสนับสนุนความคิดเห็นที่ตนเสนอด้วย การลำดับความให้สัมพันธ์กันอย่างมีเหตุผลจึงเป็นหลักสำคัญอีกประการหนึ่ง ในการเขียนเทศนาโวหารโดยทั่วไปมักเข้าใจกันว่า เทศนาโวหาร แปลว่า โวหารที่มุ่งสั่งสอน โดยตีความคำว่าเทศนา ว่าสั่งสอน ความจริงเทศนาในที่นี้ หมายถึง แสดง กล่าวคือ แสดงอย่างแจ่มแจ้งเพื่อให้เห็นคล้อยตาม รูปแบบงานเขียนที่ควรใช้เทศนาโวหารคือ งานเขียนประเภทบทความชักจูงใจ หรือบทความแสดงความคิดเห็น ความเรียง เป็นต้น


4.สาธกโวหาร คือ โวหารที่มุ่งให้ความชัดเจน โดยการยกตัวอย่างเพื่ออธิบายให้แจ่มแจ้งหรือสนับสนุนความคิดเห็นที่เสนอให้หนักแน่น น่าเชื่อถือ สาธกโวหารเป็นโวหารเสริม บรรยายโวหาร พรรณนาโวหาร และเทศนาโวหารเช่นการเลือกยกตัวอย่างมีหลักที่ควรเลือกให้เข้ากับเนื้อความ อาจยกตัวอย่างสั้น ๆ ในบรรยายโวหารหรืออาจยกตัวอย่างที่มีรายละเอียดประกอบในพรรณนาโวหาร และเทศนาโวหาร เป็นต้น ในการเขียนข้อเขียนต่าง ๆ นิสิตควรรู้จักเลือกใช้โวหารให้เหมาะกับจุดมุ่งหมายในการเขียนและเนื้อหาในบางโอกาส อาจต้องใช้โวหารหลายชนิดในงานเขียนชิ้นหนึ่งก็ได้ หลักสำคัญอยู่ที่ว่าต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมกับโอกาส จุดมุ่งหมายและเขียนได้อย่างถูกต้อง ตามลักษณะโวหารนั้น ๆ
5.อุปมาโวหาร หมายถึง โวหารเปรียบเทียบ โดยกตัวอย่าง สิ่งที่คล้ายคลึงกันมาเปรียบเพื่อให้เกิดความชัดเจนด้านความหมาย ด้านภาพ และเกิดอารมณ์ ความรู้สึกมากยิ่งขึ้น กล่าวได้ว่าอุปมาโวหาร คือ ภาพพจน์ประเภทอุปมานั่นเอง อุปมาโวหารใช้เป็นโวหารเสริม บรรยายโวหาร พรรณนาโวหาร และเทศนาโวหาร เพื่อให้ชัดเจนน่าอ่าน โดยอาจเปรียบเทียบอย่างสั้น ๆ หรือเปรียบเทียบอย่างละเอียดก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอุปมา โวหารนั้นจะนำไปเสริมโวหารประเภทใด








ความงามทางภาษาด้านการใช้โวหารภาพพจน์

ภาพพจน์ (Figure of speech) หมายถึง คำหรือกลุ่มคำที่สร้างขึ้นจากกลวิธีในการใช้คำทำให้เกิดภาพที่แจ่มชัด และลึกซึ้งในจิตใจของผู้อ่านและผู้ฟัง ซึ่งผู้แต่งใช้กลวิธีในการเปรียบเทียบอย่างคมคายและหลายแบบ
ภาพพจน์เป็นเรื่องของภาษาเป็นเรื่องของศิลปะการใช้เสียงของการเปรียบเทียบคำ การใช้คำที่เป็นรูปธรรมเรียกสิ่งที่เป็นนามธรรม เป็นต้น
๑. อุปมา (Simile)
อุปมา ได้แก่การเปรียบเทียบสิ่งที่เหมือนกัน โดยมีบุพบทหรือสันธานเป็นตัวเชื่อม เป็นเครื่องติดต่อระหว่างคำที่นำมาเปรียบเทียบ อุปมาเป็นสิ่งที่นำมากล่าวเปรียบเทียบ อุปไมย คือเนื้อความที่ต้องการกล่าว คำเชื่อมดังกล่าว เช่น เหมือน ดัง ดุจ เพียง เช่น ราว ปาน ประหนึ่ง เทียม เทียมเฉก ปิ้ม ปานว่า ดุจดัง ราวกับ เหมือนดัง เฉกเช่น เป็นต้น
โอ้อาลัยใจหายไม่วายห่วง ดังศรสักปักช้ำระกำทรวง
เสียดายดวงจันทราพะงางาม
"ใครกอดแม่แปรกอกแตกตาย ใครปาดป้ายด้วยดินหม้อเหมือนแมวคราว

ศิลาแลแวววาวดังดาวดวง เป็นเมฆม่วงมรกตทับทิมแดง
กระต่ายเหมือนกระต่ายป่าสองตาแดง ที่วางแห่งพิศแลเห็นแก่ตัว
ที่แผ่นเผินเนินผานั้นน่ากลัว ตัวเงื้อมตัวเหมือนจะพังลงทับตาย
๒. อุปลักษณ์ (Metaphor)
อุปลักษณ์เป็นการกล่าวเปรียบเทียบวิธีหนึ่ง แต่ต่างจากอุปมาตรงที่อุปลักษณ์จะไม่กล่าวเปรียบต่างๆ ใช้วิธีกล่าวเป็นนัยให้เข้าใจเอาเองบางครั้ง เปรียบโดยไม่มีคำเชื่อมโยงหรือไม่เป็นการเปรียบเทียบโดยตรง มักใช้คำกริยา เป็น หรือ คือ นำหน้า
ศิลาแลแวววาวดังดาวดวง เป็นเมฆม่วงมรกตทับทิมแดง
ดูปราสาทราชวังเป็นรังกา ดังป่าช้าพงชัฏสงัดคน
เธอจะตายเพื่อจะปลุกให้คนตื่น เธอจะตายเพื่อผู้อื่นนับหมื่นแสน
เธอเป็นดินก้อนเดียวในดินแดน แต่จะหนักและจะแน่นเต็มแผ่นดิน
( เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์)
อิดโรยโหยหิวผิวเผือด คือมีดกรีดเชือดเลือดไหล
เหน็ดเหนื่อยเมื่อยเหน็บเจ็บใจ ทรามวัยทอดองค์ลงพักกาย
( กนกนคร )
๓. บุคลาธิษฐาน หรือ บุคคลวัต (Personification)
บุคลาธิษฐาน มาจาก คำว่า บุคคล+อธิษฐาน คืออธิษฐานให้กลายเป็นบุคคล หมายถึง ภาพพจน์ที่กล่าวถึงสิ่งไม่มีชีวิต ไม่มีวิญญาณ ไม่มีความคิด หรือสิ่งที่มิใช่สิ่งมีชีวิตทำกริยา เสมือนเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความรู้สึกนึกคิด เช่น ฟ้าร้องไห้ ใบไม้เริงระบำ ภาพพจน์ประเภทนี้จะทำให้สิ่งที่กล่าวถึงมีชีวิตชีวา ผู้รับสารก็จะมองเห็นภาพนั้นเคลื่อนไหวทำอาการกิริยาเหมือนคน มีอารมณ์ มีความรู้สึก และสามารถสื่อความนั้นออกมาถึงผู้รับสารได้
เฝ้าแหงนดูดวงแขชะแง้พักตร์ เห็นจันทร์ชักรถร่อนเวหาเหิน
ดูดวงเดือนเหมือนชื่อรื้อเผอิญ ระกำเกินที่จะเก็บประกอบกลอน
ทิวมะพร้าวแผ่นพยักโบกทักทาย เล่านิยายแย้มยวนชวนใจพิมพ์
วันนี้แพรสีแสดของแดดกล้า ห่มทุ่มหญ้าป่าเขาอย่างเหงาหงอย
โดยแรงลมริ้วฝุ่นหมุนตัวลอย เรา-ค่อยค่อยขว้างหล่นซบบนดิน
( สันติ ชนะเลิศ, รำพึงแห่งใบไม้)
๔. อติพจน์ (Hyperbole)
อติพจน์ คือการกล่าวเกินจริง ได้แก่ข้อความที่เปรียบเทียบเกินความจริง แต่ก็ทำให้เห็นภาพพจน์ได้เด่นชัดยิ่งขึ้น ดูจริงจังประทับใจ ภาพพจน์ชนิดนี้นิยมใช้กันมากแม้ในภาษาพูด เพราะเป็นการเปรียบเทียบที่เห็นภาพพจน์ได้ง่ายและสามารถแสดงออกถึงอารมณ์ของกวีได้อย่างชัดเจน
เสียงไห้ทุกราษฎร์ไห้ ทุกเรือน
อกแผ่นดินดูเหมือน จักขว้ำ
บ่เห็นตะวันเดือน ดาวมืด มัวนา
แลแห่งใดเห็นน้ำ ย่อมน้ำตาคน

เรียมร่ำน้ำเนตรท้วม ถึงพรหม
พาล่ำสัตว์จ่อมจม ชีพม้วย
พระสุเมรุเปื่อยเป็นตม ทบท่าว ลงฤๅ
หากกนิษฐ์พรหมฉ้วย พี่ไว้จึ่งคง
๕. ปฏิทรรศน์ หรือ ปรพากย์ (Paradox)
ปฏิทรรศน์ คือ การใช้ถ้อยคำที่มีความหมายตรงข้ามหรือขัดแย้งกัน มากล่าวอย่างกลมกลืน ภาพพจน์ประเภทนี้ต้องวิเคราะห์ความหมายลงไปถึงจะเข้าใจ เพราะมักกล่าวในเชิงปรัชญา

๖. สัทพจน์ (Onematoboeia)
สัท แปลว่า เสียง สัทพจน์ หมายถึงภาพพจน์ที่เลียนเสียง หรือ แสดงลักษณะอาการต่างๆ เช่น เสียงดนตรี อาการของสัตว์ การมช้ภาพพจน์ประเภทนี้จะทำให้เหมือนรู้สึกได้ยินเสียงนั้นจริงๆ เสียงของคำก็มีลักษณะเด่นอยู่ในตัว
ต้อยตะริดติดตี่เจ้าพี่เอ๋ย จะละเลยเร่ร่อนไปนอนไหน
แอ้อี๋อ่อยสร้อยฟ้าสุมาลัย แม้นเด็ดได้แล้วไม่ร้างให้ห่างเชย

กรองทองตีครุ่มครึ่ม เดินเรียง
จ่าตะเติงเสียง ครุ่มครื้น
เสียงปีรี่เรื่อยเพียง การเวก
แตร้นแตร่นแตรฝรั่งขึ้น หวู่หวู้เสียงสังข์

การศึกษาวรรณคดีประวัติศาสตร์

การศึกษาวรรณคดีในเชิงประวัติศาสตร์